ทะเลอันดามัน Andaman Sea





ทะเลอันดามัน เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ขอบเขตของมันถูกแบ่งออกตามเส้นแนวเปลือกโลกและลักษณะพื้นที่ท้องทะเลที่เป็นแอ่งของมหาสมุทรอินเดียพื้นที่ที่เรียกกันว่าทะเลอันดามัน ถูกแบ่งออกเป็นรูปวงรีซึ่งมีพื้นที่ติดกับแนวชายฝั่งของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ ประเทศพม่า ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย









ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และอาณาเขต

-ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลอันดามันได้แก่พื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งของประเทศไทย และรวมถึงพื้นที่แหลมมลายูซึ่งมีทะเลกั้นกลางระหว่างเกาะสุมตราของอินโดนีเซียกับช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย

-ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ แนวเขตอันดามันตั้งแต่ โกจุงราจา (5 องศา32 ลิปดาเหนือ-95 องศา 12 ลิปดาตะวันออก) ในสุมาตราไปจนถึง ปูลูเบอร์ซา

-ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากแนวปลายแหลมชายฝั่งพม่าใน อ่าวเบงกอล (16 องศา 3 ลิปดาเหนือ) จนถึงแนวหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์

พื้นที่ของทะเลอันดามัน

ความยาว 1,200 กิโลเมตร ความกว้าง 645 กิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมดโดยประมาณ 600,000 ตารางกิโลเมตร ความลึกโดยเฉลี่ย 1,096 เมตร หรือ 3,596 ฟุต พื้นที่ลึกที่สุดมีความลึกถึง 3,000- 4,198 เมตร หรือ 13,200-13,773 ฟุต (บริเวณแอ่งท้องทะเลด้านทิศตะวันออกของหมู่เกาะอันดามันและนโคบาร์)

ลักษณะทางธรณีวิทยา

ทะเลอันดามันเป็นแอ่งที่เกิดจากการเคลื่อนตัวและการยุบตัวของเปลือกโลกรวมทั้งได้รับอิทธิพลจากรอยเลื่อนต่างๆของเปลือกโลก จากแม่น้ำอิระวดีในประเทศพม่า ผ่านไทย มาเลย์ลงไปจนถึงทิศใต้ของหมู่เกาะสุมาตรา ลักษณะภูมิประเทศเป็นแบบลาดทวีปที่เอียงลาดไปทางทิศตะวันตกจากชายฝั่งไปจนถึงท้องแอ่งทะเลที่ลึกประมาณ 3,035- 4,198 เมตร ในระยะทางจากชายฝั่งของไทยไปจนถึงหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์เป็นระยะทางประมาณ 645-650 กิโลเมตร บริเวณพื้นที่ตื้นๆมีความลึกประมาณ 180 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณปากแม่น้ำอิราวะดีซึ่งมีดินตะกอนเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้บริเวณแอ่งที่ลึกที่ติดอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยนั้นคือ แอ่งเทอร์เซียรี แอ่งเมอร์กุย ซึ่งเป็นแอ่งลึกที่มีดินตะกอนทับถมอยู่มีความหนาประมาณ 8,000 เมตร ในเนื้อที่ประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร แอ่งทะเลบริเวณเกาะอันดามันและนิโคบาร์ประกอบด้วยหินภูเขาไฟ หินดินดาน เป็นต้น การเกิดแอ่งทะเลอันดามันมีประวัติการเกิดร่วมกับโครงสร้างส่วนอื่นๆในเอเชียและการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนขนาดใหญ่ เช่น รอยเลื่อนสุมาตรา รอยเลื่อนเจดีย์สามองศ์ของไทย และ การเปิดของอ่าวไทย เป็นต้น (Bunopas and Vella, 1983/ ref:dmr.go.th)ลักษณะชายฝั่งทะเลอันดามันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของประเทศไทยของเรานั้นถือว่าเป็นชายฝั่งทะเลแบบยุบตัว (Submerged shoreline) ซึ่งหมายความว่า เป็นฝั่งทะเลที่เกิดจากการยุบตัวในระดับต่ำลงของเปลือกโลก ทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาท่วมบริเวณผืนดินชายฝั่ง เกิดเป็นแนวฝั่งใหม่ที่ถอยร่นจากแนวฝั่งเดิมเข้ามาในแผ่นดิน ฝั่งทะเลประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นหน้าผาชันมีลักษณะเว้าแหว่ง พบบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ชายฝั่งทะเลจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูลท้องทะเลอันดามันนั้นปกคลุมไปด้วยดินตะกอน หินขาว หินกรวด และพื้นทราย ส่วนบริเวณชายฝั่งนั้นก็ประกอบไปด้วยพื้นที่หลายแบบเช่น เป็นดินโคลนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นป่าชายเลนและที่เนินรวมทั้งราบต่ำๆของพื้นทรายที่สามารถพบเห็นได้ในบริเวณพื้นที่ของ 6 จังหวัดของไทย
 


ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.