เกาะลิบง,อีกที่หนึ่งเมื่อคุณไปตรัง


View Trang,Kantang in a larger map :Special Thank to Google.com
        
  เกาะลิบง (Libong island,Koh Libong) เป็นชื่อของเกาะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง บนเนื้อที่ประมาณ 25,000 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่แบ่งออกเป็นสามลักษณะ(ข้อสังเกตของผู้เขียน) ได้แก่ บริเวณหน้าบ้านหรือบ้านบาตูปูเตะ(ภาษามาเลย์แปลว่าหินขาว)และบ้านหลังเขามีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบเนินทรายและมีชายหาดประสมกับแนวหินที่เห็นได้โดยทั่วไป 2 ด้านนี้เป็นพื้นที่รับลมทะเลได้อย่างดีเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบบรรยากาศธรรมชาติของชายทะเลและคลื่นลมของมรสุมที่พัดเข้าสู่เกาะตลอดวัน ส่วนแบบที่สองได้แก่พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นป่าชายเลนหรือป่าโกงกางและลำคลองที่แทงเข้าไปทางทิศใต้ เหมาะกับผู้ที่ชอบล่องเรือแคนูหรือจะพายเรือและดักอวนในคลอง พื้นที่ตามแนวป่าชายเลนนั้นให้บรรยากาศในแบบของการอนุรักษ์และการศึกษาถึงระบบนิเวศน์ได้อย่างดี เพราะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์นํ้าขนาดเล็กหลายสายพันธุ์และป่าชายเลนก็เป็นเสมือนปราการกำบังจากคลื่นลมและพายุในหน้ามรสุมได้อีกทางหนึ่งนอกจากนี้ยังมีนกชนิดต่างๆที่อาศัยป่าชายเลนเป็นบ้านของพวกมัน พื้นที่ลักษณะนี้ได้แก่บริเวณบ้านโคกสะท้อนหรือบ้านพร้าว บ้านพร้าวมีท่าเรือที่สามารถเดินทางเข้าออกเกาะได้สะดวกกว่าทางอื่นๆเพราะนั่งเรือไปไม่ไกลและมีอันตรายน้อยกว่า ส่วนพื้นที่อีกลักษณะหนึ่งได้แก่แนวที่ราบสูงและภูเขาซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะลิบงเยื้องไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย พื้นที่ภูเขาซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่เกษตร(สวนยางพารา)แต่ก็ยังมีเขตห้ามล่าและมีพื้นที่อนุรักษ์อยู่มากพอสมควร ถ้าจะกล่าวไปแล้วบรรดาสวนยางพาราของชาวสวนที่ปลูกไล่ขึ้นเป็นแนวก็มีความสวยงามมากหากได้มองกลับไปยังภูเขาในช่วงหน้าแล้งซึ่งเป็นช่วงที่ยางกำลังผลัดใบ เราก็จะเห็นสีสันของใบยางหลากสีผสมกับสีของต้นไม้ในเขตห้ามล่าเป็นสีสรรสวยงาม เช่น สีเขียว แดง ส้ม เหลืองและสีฟ้า ลักษณะพื้นที่ทั้งสามแบบที่กล่าวมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและเอื้อต่อวิถีชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ในเกาะแห่งนี้ได้อย่างลงตัว

ป่าชายเลน แหล่งอนุบาลสัตว์นํ้าชายฝั่งที่สำคัญ

    ในเกาะลิบงมีชุมชนอยู่ทั้งหมด 4 หมู่บ้านซึ่งแบ่งกันดูแลตามหลักบริหารและการปกครอง ได้แก่ หมู่ที่ 1บ้านโคกสะท้อน หมู่ที่4บ้านบาตูปูเตะ หมู่ที่ 5บ้านหลังเขาและ หมู่ที่ 7บ้านหาดทรายแก้ว ซึ่งแบ่งเขตการปกครองออกจากพื้นที่ของหมู่ที่ 4 เดิม ส่วนตัวเลขที่หายไปได้แก่ หมู่ที่ 2,3และ6  ซึ่งเป็นอีกสามหมู่บ้านได้แก่ บ้านเกาะมุก บ้านมดตะนอย และบ้านเจ้าไหมซึ่งเป็นพื้นที่การปกครองของตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  ชื่อของเกาะลิบงถูกใช้เป็นชื่อของเขตปกครองตำบล เนื่องด้วยเกาะนี้มีความเป็นมายาวนาน เคยเป็นชุมชนปกครองตนเอง เคยเป็นเมืองและมีประวัติศาสตร์มายาวนานคู่กับประวัติศาสตร์ของเมืองตรัง                                                                       

เกาะลิบงยามเย็น ภาพโดยคุณนพ

ภาพจาก:dokmithai.igetweb.com
    เกาะลิบง หากสืบหาตามตำราหลักภาษาแล้วพบว่ามาจากภาษามลายู ซึ่งเรียกผันกันมาจาก ตะลิโบง และปูเลาลิบง "ลิบง"ในภาษามลายูหมายถึง"ต้นเหลาชะโอน"ลำต้น ใบและผลของมันคล้ายกับต้นหมากและมีหนามคล้ายต้นระกำซึ่งชาวบ้านในสมัยก่อนใช้ประโยชน์จากต้นเหลาชะโอนตัดแต่งเป็นพื้นกระดานบ้านซึ่งต้นเหลาชะโอนนี้มีอยู่มากในอดีต (*เหลาชะโอน,Nibung Palm เป็นพืชตระกูลปาล์ม ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Oncosperma tigillarium มีอยู่มากในประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย)

    แต่อีกคำหนึ่งที่คนมาเลย์ใช้เรียกเกาะนี้ คือ ตะลิบง ซึ่งความหมายเป็นไปในทางตรงกันข้าม แปลว่า เกาะนี้เป็นเกาะที่ไม่มีต้นเหลาชะโอน อย่างไรก็ตามถ้าเราใช้เหตุผลและประสบการณ์ส่วนบุคคลก็จะพบว่าการตั้งชื่อสถานที่ส่วนใหญ่จะตั้งตามชื่อคนที่ค้นพบ หรือตั้งชื่อตามสิ่งที่มีอยู่มากหรือเป็นลักษณะเด่นของพื้นที่เช่น แหลมหิน วัดท่าแร้ง โคกยาง สิเหร่(พลู) และภูเก็ต(ภูเขา) เป็นต้น ความคิดของผู้เขียนความหมายแรกน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์ค่อยว่ากันครั้งต่อไป



Libong,Trang,Thailang
สะพานหน้าบ้าน บาตูปูเตะ เกาะลิบง ก่อนบูรณะใหม่

Trang,thailand,libong,island
สะพานชมวิวลิบง


----------------------
ขับเคลื่อนโดย Blogger.