เรื่องเล่าดุหยง



เรื่องของดุหยงหรือพะยูนนั้นได้มีเรื่องเล่าที่เรารู้กันมานานแล้วว่ามันเป็นสัตว์ที่อยู่ในตำนานซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่นตามแนวชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกาะลิบง แต่ความเป็นมาของดุหยงนั้นมีการค้นพบเมื่อไหร่นั้นยังไม่ทราบแน่ชัดเช่นเดียวกับสัตว์ในท้องทะเลชนิดอื่นๆ แต่หากเป็นตำนานและการบอกกล่าวถึงรูปพรรณสัณฐานของมันก็คงพอบอกกันได้ตามสิ่งที่เห็นและการเฝ้าสังเกตของแต่ละคนที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของมัน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลในยุคก่อนๆคงรู้จักพะยูนมาก่อนนัักวิทยาศาสตร์ทางนิเวศวิทยา(Biology)ก็เป็นได้ แต่การศึกษาและรวบรวมตัวอย่างตลอดจนการเฝ้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของสัตว์ชนิดนี้ก็คงไม่มีเวลาทำเหมือนนักวิทยาศาสตร์เพราะต้องประกอบอาชีพและดำรงชีวิตไปตามวิถี แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักนิเวศวิทยาและองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งเกิดมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะคงมีเวลาและเครื่องมือต่างๆพร้อมในการศึกษาและรวบรวมเป็นสารสนเทศที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้มากพอสมควรและจากการเรียนรู้จากเอกสารต่างๆรวมทั้งคำบอกเล่าของชาวบ้านในท้องถิ่นก็คงเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้างพอสมควร ครั้งหนึ่งผมเคยถามเำพื่อนร่วมงานในบริษัทที่ผมทำอยู่ เขาเป็นพนักงานชาวฟิลิปินส์ เมื่อถามเขาว่า"คุณรู้จักดุก็องมั้ย" เขาตอบด้วยความมั่นใจว่า"อ้อ รู้จักสิ หน้ามันเหมือนหนู ตัวมันเหมือนปลา" แต่เมื่อผมถามต่อไปว่า"แล้วคำว่าดุก็องในภาษาตกาล็อกของคุณ มันแปลว่าอะไร " เขางงแล้วตอบว่า"ก็มันเป็นดุก็องไง มันมีที่เดียวที่ฟิลิปินส์ ที่อื่นไม่มีแล้ว" ผมฟังแล้วอยากจะบอกเขาว่า มันมีอยู่ตั้ง 48 ประเทศทั่วโลก และที่บ้านไอก็มี ที่จังหวัดตรังไง แต่ด้วยมารยาทของผู้ฟังที่ดีจึงเก็บอาการแอบอมยิ้มอยู่ในใจ
ตามที่เราเคยเรียนรู้มาคำว่า Dugong เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ ที่มีศัพท์มาจากภาษาตากาล็อก(ฟิลิปินส์) มันมีความหมายว่า "หญิงสาวแห่งท้องทะเล" และ Dugon เป็นคำจากภาษาสปน อีกคำหนึ่งคือ ดุหยง (Duyong) มาจากภาษามลายู ทั้งหมดนี้แปลว่า"หญิงสาวหรือผู้หญิงแห่งท้องทะเล" ความรู้เกี่ยวกับพะยูนคงเป็นไปตามความสนใจของแต่ละคนมากกว่า ความหมายและการบอกลักษณะจึงเป็นไปตามประสบการณ์เรียนรู้ของแต่ละคนนั่นเอง



ลักษณะทั่วไปของพะยูน  
    พะยูนเป็นสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม รูปร่างของพะยูนเป็นทรงกรวยคล้ายโลมา บ้างก็ว่าคล้ายวัวมากที่สุดเพราะมันกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร รูปร่างหน้าตาของพะยูนนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเพราะส่วนหัวมีลักษณะคล้ายวัว คนส่วนใหญ่จึงเรียกมันว่า วัวทะเล(Seacow) แต่ส่วนลำตัวนั้นกลับมีความคล้ายคลึงกับปลา ผิวหนังหนา มีสีต่างๆ เช่น สีเทา สีนํ้าตาล และบางตัวก็มีสีนํ้าตาลอมชมพู ตลอดลำตัวของมันมีขนเล็กๆขึ้นอยู่โดยทั้วไปของร่างกาย และขนแข็งๆของมันจะอยู่ที่บริเวณปากและสองแก้มของมัน มีตาและหูเล็กๆอย่างละคู่ ไม่มีใบหู มีกรีบด้านหน้าหนึ่งคู่คล้ายแมวนํ้า มีติ่งนมเล็กอยู่ใต้ลำตัวตรงแนวใต้กรีบทั้งสองข้าง ภายในกรีบหน้าทั้งสองข้างประกอบด้วยกระดูกข้อนิ้วข้างละห้านิ้วคล้ายกับกระดูกมือของมนุษย์ ตรงส่วนหางนั้นมีหางเป็นแฉกคล้ายปลาวาฬเพื่อใช้ในการเปลี่ยนทิศทางและในการว่ายนํ้าของมัน พะยูนมีโครงสร้างร่างกายในลักษณะลำตัวตันมีชิ้นเนื้อ กระดูก และไขมันรวมทั้งผิวหนังที่หนา ไม่มีเกล็ด ไม่มีส่วนใดของร่างกายของพะยูนที่จะเป็นอาวุธในการป้องกันตนเองและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มันว่ายนํ้าด้วยความเร็วที่ 1.8-2.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่ช้ามากหากเปรียบเทียบกับสัตว์ทะเลประเภทอื่นๆ 

  สายพันธุ์และแหล่งอาศัยของพะยูน
  กลุ่มศึกษาพะยูนของออสเตรเลีย (ที่มา Australian-animals.net) มีความเห็นว่าบรรพบุรุษของพะยูนมีความใกล้เคียงกับบรรพบุรษของช้างเมื่อ 55 ล้านปีก่อน มันอาจเคยเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่บนบก และมีขาสี่ขาแต่ได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนกลายเป็นสัตว์ทะเล ซึ่งขาหลังทั้งสองไม่มีความจำเป็นต้องใช้ และขาหน้าได้เปลี่ยนแปลงกลายมาเป็นกรีบสำหรับแหวกว่ายนํ้าเพื่อใช้ชีวิตในทะเลนั่นเอง 
  สายพันธุ์ของพะยูนเท่าที่มีการค้นพบ พะยูนเป็นสัตว์ในตระกูล dugongidae ปะเภท simnia /triche chidae และยังเแบ่งออกเป็นสองตระกูลย่อย คือ ตระกูล Hydrodamalis gigas (ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว) และอีกตระกูลหนึ่งคือ Dugong/Sirenian ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวชายฝั่งทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น ที่มาและคีย์เวิอร์ด(Marine Biology/Muller,1776) 
   พื้นที่ชายฝั่งทะเลและประเทศที่ยืนยันได้ว่าเป็นที่อยู่อาศัยของพะยูน ได้แก่ 
ออสเตรเลีย  บาร์เรน  บรูไนดารุสลาม  กัมพูชา  จีน  อินเดีย หมู่เกาะนิโคบาร์  อินโดนีเซีย  ญี่ปุ่น  จอร์แดน เคนย่า มาดากัสก้าร์  มาเลเซีย  โมซัมบิก  ปาปัวนิวกินี  ฟิลิปินส์  การ์ต้าร์  ซาอุดิอารเบีย  สิงคโปร์ เกาะโซโลมอน  ศรีลังกา  ซูดาน ทานซาเนีย  ราชอาณาจักรไทย  สหรัฐอาหรับเอมิเรส  เวียดนาม และ เยเมน (ที่มา IUCN )  ชายฝั่งทะเลของประเทศเหล่านี้มีแนวหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูน แต่การเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยและจำนวนของพะยูนที่เหลือนั้นยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ชัดเจน แต่จากการเฝ้าติดตามศึกษาของหน่วยงานต่างๆทั่วโลกต่างยืนยันตรงกันว่ามันเป็นสัตว์ทะเลที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ในประเทศไทยเรานั้นปัจจุบันพบพะยูนอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งของจังหวัดตรังซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพะยูนฝูงสุดท้ายที่เหลืออยู่ของประเทศไทย! ส่วนในประเทศอื่นๆดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ประเทศออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยังคงมีพะยูนเหลืออยู่ เพราะจากการสำรวจเมื่อปี 1991 เมื่อ 19 ปีที่ผ่านมากล่าวกันว่าจำนวนพะยูนพบมากที่สุดในโลกที่ประเศออสเตรเลีย ประมาณ 70,000 ตัว แต่จำนวนพะยูนที่เหลืออยู่ในออสเตรเลียปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน หลังจากที่เมื่อ 19 ปีที่แล้วนั้นการล่าพะยูนในออสเตรเลียทำกันอย่างเสรี ปัจจุบันจึงมีกลุ่มอนุรักษ์พะยูนเกิดขึ้นในออสเตรเลียหลายหน่วยงาน  **(สำหรับข้อมูลการสำรวจที่มีบันทึกไว้เกี่ยวกับแหล่งอาศัยและจำนวนของพะยูนนั้น คุณสามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ของสหภาพนานาชาติ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN)**
    

    วงจรชีวิตและการสืบพันธุ์
    พะยูนหายใจผ่านปอด มันจะอาศัยอยู่ในนํ้าทะเลที่มีความลึกไม่เกิน 10 เมตร การให้กำเนิดลูกน้อยในท้องจะมีลูกน้อยเป็นตัว ไม่ได้วางไข่เหมือนปลา ความยาวของพะยูนตัวโตเต็มวัย ยาวประมาณ 3 เมตร นํ้าหนักเกือบ 500 กิโลกรัม การว่ายนํ้าของพะยูนจึงดูเชื่องช้าและตุ้ยนุ้ย ครอบครังของพะยูน แต่เดิมเคยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่แต่เนื่องจากจำนวนที่ลดน้อยลงอย่างมากของประชากรของมัน และแหล่งอาหารที่มีน้อยลงจึงทำให้พะยูนอยู่กันเป็นครอบครัวเล็กๆ ว่ายนํ้าไปหากินแค่ไม่เกินครั้งละสามตัว ลูกพะยูนจะว่ายนํ้าใกล้ชิดกับแม่อย่างระวัง และเมื่อมันพบอันตรายลูกของพะยูนก็จะว่ายนํ้าแนบชิดกับใต้ท้องของแม่หรืออยู่บนหลังของแม่เพื่อป้องกันตนเอง พะยูนตัวผู้มีงาเล็กๆคล้ายงาช้างเพื่อใช้ในการต่อสู้กันเพื่อเลือกเพศเมียมาเป็นคู่ผสมพันธุ์ พะยูนตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย ช่วงอายุที่พร้อมในการสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศจะอยู่ในช่วงวัย 9 -10 ปี ระยะการทั้งท้องแต่ละครั้งของแม่พะยูนใช้เวลานาน 13 -14 เดือนเพื่อให้กำเนิดทารกน้อยของมันแค่ครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น ลูกพะยูนแรกเกิดจะมีความยาว 1- 1.2 เมตร  นํ้าหนักประมาณ 20-35 กิโลกรัม 

    ข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของพะยูน
    พะยูนเป็นสัตว์เป็นมิตรกับมนุษย์มากที่สุดในบรรดาสัว์อื่นๆในท้องทะเลแต่มันก็เป็นสัตว์ที่ขี้ใจน้อยและอ่อนไหวต่อสถานการณ์ที่ตรึงเครียดและหากมันคิดว่านั่นเป็นอันตรายสำหรับมัน การเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ มันจึงอาจตกเป็นเหยื่อในห่วงโซ่อาหารได้ทุกเมื่อ ชาวบ้านในท้องถิ่นจากหมู่บ้านเจ้าไหมและเกาะลิบง เคยพบเห็นพะยูนเกยตื้นหรือที่เรียกกันว่าติดแห้ง สาเหตุเนื่องจากมันคงมัวเพลินอยู่กับการกินหญ้าทะเลด้วยความหิวโหยเป็นเวลานานจนระดับนํ้าชายฝั่งทะเลลดลงโดยไม่ทันรู้ตัว บางครั้งเมื่อชาวบ้านเห็นเข้าก็สงสารช่วยกันยกพะยูนลงนํ้าและสังเกตได้ว่ามันมีนํ้าตาใหลออกมาด้วย คล้ายกับมนุษย์ที่โศกเศร้า เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนักก็พบว่ามันได้สิ้นชีวิตไปเสียแล้ว ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง การช่วยเหลือของชาวบ้านผู้ที่พบเหตุการณ์เข้าโดยบังเอิญก็อาจจะสายเกินไปที่จะช่วยเหลือเหล่าพะยูน พะยูนติดอวน บางครั้งก็เป็นสาเหตุให้มันตายโดยไม่ได้ตั้งใจแม้ว่าจะเป็นการคุกคามชีวิตมันแค่เล็กน้อยก็อาจทำให้มันตายได้เช่นกัน (สุริยา กอบกิจสามารถ/เกาะลิบง)

     ความรักและความผูกพันระหว่างคนกับพะยูน
     ประมาณปี 2536 เราเคยมีโอกาสรู้จักกับ บังเหด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเจ้าไหม และได้รู้จักกับเจ้าโทน ลูกพะยูนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับครอบครัวของบังเหดมากที่สุดตัวหนึ่ง เจ้าโทนเป็นพะยูนที่น่ารักมาก หากว่ามันออกมากินหญ้าทะเลกับแม่ใกล้ๆบริเวณที่บังเหดทำงานอยู่ มันก็จะมาหาบังเหดทุกครั้งที่บังเหดเรียกหาโดยการเอาฝ่ามือทบลงบนผิวน้ำ มันมักจะมาคลอเคลีย เล่นกับเด็กๆ แต่ดูท่าทางจะคุ้นเคยและเชื่องกับบังเหดมากที่สุด ข่าวของเจ้าโทนพะยูนที่เป็นเพื่อนกับคน แพร่กระจายไปสู่คนในพื้นที่ต่างๆ ให้ทยอยกันมาเที่ยวทะเลและสัมผัสกับลูกพะยูนตัวนี้กันมากขึ้น หลังจากนั้นเจ้าโทนจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นเวลากว่าสองปี จนกระทั่ง วันหนึ่งบังเหดและชาวบ้านเจ้าไหมพบว่าพะยูนน้อยที่เรียกกันว่าเจ้าโทนนั้นได้เสียชีวิตไปเสียแล้ว  แต่จะด้วยสาเหตุใดนั้นก็ยากที่จะคาดการณ์ได้ แต่จากการสังเกตของบังเหดซึ่งเล่าให้เราฟังพร้อมๆกับการเอากระดูกเจ้าโทนที่เก็บไว้มาให้พวกเราดู บังเหดสงสัยว่าจะมีคนแอบตีทำร้ายพะยูนตัวนี้ สังเกตจากรอยช้ำตามตัวของเจ้าโทน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นถือว่าจังหวัดตรังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง และที่สำคัญเจ้าโทนได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เข้ามาเที่ยวทะเลตรังเพื่อชมความน่ารักของมัน  จึงอาจเป็นไปได้ว่านั่นเป็นสาเหตุการตายของเจ้าโทน พะยูนที่เคยเข้ามาเล่นกับเด็กๆ บ้านเจ้าไหม อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

  ภาวะคุกคามต่อพะยูนและความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
    สิ่งมีชีวิตทุกชนิดย่อมมีปัญหาและอุปสรรคในการดำรงชีพไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือมนุษย์ ดุหยงก็เช่นกัน จำนวนที่ลดลงของมันและการตายของดุหยงเป็นตัวบ่งบอกว่า มันมีภัยคุกคาม และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากจำนวนของดุหยงในเขตจังหวัดตรังที่ได้สำรวจไว้เมื่อปี 2549 ถึงปี 2550 มีจำนวนพะยูนเหลืออยู่ในทะเลตรังจำนวน ประมาณ 100-120 ตัวเท่านั้น ก่อนหน้านี้ประมาณปี 2534 เท่่าที่ผู้เขียนจำได้คือบริเวณเกาะลิบงมีพะยูนอยู่เป็นฝูงใหญ่มากกว่า 400 ตัวและในช่วงเวลานั้นเองที่การล่าพะยูนเป็นกิจกรรมที่ทำกันอย่างเปิดเผย และการรณรงค์รักษาทรัพยากรชายฝั่งและพะยูนยังมีอยู่น้อยและขาดพลัง แต่หลังจากนั้นก็มีสมาคมหยาดฝนเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งที่อำเภอกันตัง มีกิจกรรมเวทีการเรียนรู้ต่างๆขึ้นมามากมายและจนกระทั่งพะยูนได้ถูกผลักดันขึ้นสู่การห้ามล่าเป็นกฏหมายอย่างเป็นทางการ นับแต่นั้นมาการล่าพะยูนก็หมดสิ้นไปแต่ก็มีปัญหาอื่นๆเกิดขึ้นตามมา เช่น เส้นทางวิ่งเรือ และเครื่องมือประมงบางอย่างที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพะยูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรืออวนรุนและเรืออวนลาก แต่ที่มีปัญหามากที่สุดคืออวนรุนเพราะมันจะลากจับสัตว์นํ้าในบริเวณนํ้าตื้นกว่าเรืออวนลากมาก เนื่องจากพะยูนใช้ชีวิตอยู่ในระดับนํ้าที่ไม่ลึกมากนักแค่ความลึกประมาณ 10 เมตรหรือตื่นกว่านั้น จึงเป็นสาเหตุให้พะยูนติดอวนโดยไม่เจตนา และหลายครั้งพะยูนก็ถูกใบพัดเรือฟันจนบาดเจ็บ ล้มตายมาหลายตัวแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีเรือท่องเที่ยวเข้ามาใช้เส้นทางวิ่งที่เป็นความเสี่ยงต่อเหล่าพะยูนมากขึ้นทุกวัน สาเหตุหรือภาวะเสี่ยงเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจของผู้เดินเรือ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงอื่นก็ิอาจได้แก่ ถูกปลาฉลามกัดตาย เกยตื้น(ลงนํ้าไม่ทันและนานเกินไป) คลื่นยักษ์และในช่วงที่มีพายุคลื่นลมแรง เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะผู้เขียนมีความเห็นว่าพะยูนในปัจจุบันเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของการเดินเรือมากกว่าปัจจัยอื่นๆ

   เรื่องของพะยูนหรือดุหยงยังไม่จบลงแค่นี้ ติตามตอนต่อไปเร็วๆนี้ ขอบคุณแหล่งข้อมูลที่อ้างแล้วในบทความนี้ ขอบคุณครับ
   

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.