ทะเลอันดามัน Andaman Sea 2

ทะเลอันดามัน ตอนที่ 2
สภาพภูมิอากาศและข้อมูลด้านอุทกวิทยา

ถ่ายจากภูเขานาคเกิด จังหวัดภูเก็ต

    ระดับน้ำและสภาพภูมิอากาศบริเวณทะเลอันดามันโดยส่วนใหญ่จะถูกกำหนดจากมรสุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมากภูมิอากาศจะคงอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส ในเดือนกุมภาพันธ์ และปริมาณน้ำฝนจะสูงถึง 3,000 มม. ต่อปี โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม ฤดูกาลส่วนใหญ่ของพื้นที่แถบอันดามันส่วนมากจะเป็นฤดูฝนและฤดูร้อน ทางด้านทิศตะวันตกในช่วงฤดูร้อนช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวน้ำอยู่ที่ 26-28 องศาเซลเซียส และในเดือนพฤษภาคม 29 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิของน้ำจะคงอยู่ที่ 4.8 องศาเซลเซียสที่ระดับความลึกลงไป 1,600 เมตร ความเค็มของน้ำมีค่าระดับความเค็มอยู่ที่ 31.5-32.5% (อัตราส่วนใน 1,000) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ส่วนช่วงฤดูฝนและหน้าหนาวนั้นค่าระดับความเค็มของน้ำจะลดลงถึง 30.0-33.0 % ส่วนค่าความเค็มของน้ำทะเลบริเวณด้านทิศเหนือของทะเลอันดามันขึ้นไปหรือส่วนใต้จากเขตแดนของประเทศพม่านั้นจะลดลงมากที่สุดถึง 20-25% เนื่องจากมวลน้ำจืดจากแม่น้ำอิราวดีในพม่าจะไหลเข้ามาสมทบลงสู่ท้องทะเลอันดามันส่งผลให้ความเค็มของน้ำบริเวณนั้นและบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของแต่ละประเทศจะมีลักษณะของน้ำกร่อย เช่น บริเวณปากแม่น้ำตรังในช่วงตำบลบางสัก และตำบลเกาะลิบง เป็นต้น

ประเทศไทย
ภูมิอากาศเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมิถุนายน ตั้งแต่ พ.ศ.2533-2542(10ปี)

ค่าความกดอากาศ(เฮกโตปาสคาล)
เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 1011.18 ,เดือนมิถุนายน เฉลี่ย 1008.54

อุณหภูมิเฉลี่ย(องศาเซลเซียส)
เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 27.6 ,เดือนมิถุนายน เฉลี่ย 27.4

ความชื้นสัมพัทธ์(%)
เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 71 ,เดือนมิถุนายน เฉลี่ย 84

จำนวนเมฆปกคลุมท้องฟ้า(0-10ส่วน)
เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 3.8 ,เดือนมิถุนายน เฉลี่ย 7.8

ปริมาณฝนตก(มิลลิเมตร)
เดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 16.7 ,เดือนมิถุนายน เฉลี่ย 630.2

*ข้อมูลข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมของโลก
(ข้อมูลบางส่วนจาก กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และ Andaman Sea, Great Soviet Encyclopedia)

ลักษณะพืชพรรณบริเวณชายฝั่ง

ชายฝั่ง

    ชายฝั่งทะเลอันดามันประกอบไปด้วยป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง ทุ่งหญ้าและแนวหญ้าทะเลชนิดต่างๆ มากมาย ป่าชายเลนมีพื้นที่ประมาณ 360,000 ตารางกิโลเมตรนับจากชายฝั่งของไทยไปจนถึงคาบสมุทรมลายู ส่วนแนวหญ้าทะเลมีพื้นที่ประมาณ 6,241 ตารางกิโลเมตร ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ตามแนวชายฝั่งเป็นแหล่งพักพิงสัตว์น้ำขนาดเล็กและสัตว์บกหลายชนิด เนื่องจากสัตว์น้ำหลายชนิดที่ยังโตไม่สมบูรณ์ส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหารและที่หลบอันตราย เป็นการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำหลายชนิดเอาไว้ก่อนที่พวกมันจะสมบูรณ์พอที่จะออกไปสู่ทะเลใหญ่ เศษซากของพืชพรรณในป่าชายเลยจะกลายเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญสำหรับสัตว์และมนุษย์ ปริมาณความหนาแน่นของต้นและรากของต้นโกงกางอันมากมายนั้นช่วยปกป้องสัตว์และมนุษย์จากคลื่นลมได้ ดังจะสังเกตได้จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547 สัตว์หลายชนิดรวมทั้งมนุษย์ที่อาศัยอยู่โดยมีผืนป่าชายเลนอันหนาทึบเป็นที่กำบังนั้นจะปลอดภัยและได้รับความสูญเสียน้อยกว่าบริเวณหาดทรายและพื้นที่โล่งแจ้งในบริเวณอื่นๆ เพราะความเสียหายส่วนใหญ่ของระบบนิเวศชายฝั่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ เช่น การที่รัฐให้สัมปทานเอกชนตัดไม้ในป่าโกงกางเข้าโรงเผาถ่านเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา และการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยรวมทั้งธุรกิจบ่อเลี้ยงกุ้ง เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่ป่าชายเลนและระบบนิเวศน์ถูกทำลายไปมากมาย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันก็พบว่ามีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งองค์กรชาวบ้านได้มีการรวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาป่าชายเลนอยู่เป็นระยะ เช่น สมาคมหยาดฝน มูลนิธิอันดามัน และเครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้ เป็นต้น

สัตว์น้ำแนวชายฝั่ง

ภาพจาก กรมทรัพยากรทางทะเล

มีปลาชนิดต่างๆในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 280 ชนิด และที่พบบริเวณป่าชายเลนมีประมาณ 232 ชนิด และสัตว์น้ำประมาณ 149 สายพันธุ์อาศัยอยู่ในแนวหญ้าทะเล นอกจากนี้สัตว์ขนาดใหญ่ที่พบตามแนวชายฝั่งได้แก่ พะยูน(Dugong) ปลาโลมาอิราวดีและเต่าทะเลประมาณ 4 ชนิดที่ปัจจุบันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่าพะยูนซึ่งปัจจุบันเป็นสัตว์อนุรักษ์ตั้งแต่จังหวัดระนองจนถึงจังหวัดสตูลนั้นมีจำนวนประมาณแค่ 150 ตัว และพะยูนเหล่านี้เป็นสัตว์ที่กินหญ้าทะเลบางชนิดเป็นอาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.