ประวัติศาสตร์ตรัง หลักฐานศิลาจารึก

ศิลาจารึกเมืองตันซอร์ แห่งพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที ๑  

จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๕๗๓-๑๕๗๔ กล่าวว่า พวกโจฬะยกทัพมาตีเมืองต่างๆในแหลมมลายู ได้แก่ ดินแดนศรีวิชัย ปัณไณ มะไลยูร์ มัธทมาลิงคัม หลังจากนั้นศรีวิชัยก็เสื่อมอำนาจลง(นักโบราณคดีกล่าวว่า มัทธมาลิงคัมเป็นที่เดียวกับตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชนั่นเอง) 

ศิลาจารึกที่ ๒๔ วัดเสมาเมือง 
กล่าวถึงกษัตริย์จันทรภาณุแห่งปทุมวงศ์ ผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ผู้มีอำนาจ(จารึกเมื่อ พ.ศ.๑๗๗๓) พระองค์ได้ยกทัพไปรุกรานเกาะลังกา ๒ ครั้ง(๑๗๙๓,๑๘๑๓) และไม่มีเส้นทางใดจะเหมาะไปกว่าเส้นทางแม่น้ำตรัง บันทึกเกี่ยวกับการเดินทางและการกล่าวถึงสถานที่รายทางในยุคนั้นเป็นหลักฐานที่แสดงว่าทั้งสองฝั่งแม่น้ำตรังมีชุมชนอาศัยอยู่แล้ว

เมืองตะโกลา 

เกี่ยวกับตะโกลาเมืองที่เก่าแก่และเจริญด้านการค้าแห่งยุคโบราณนี้ได้มีข้อสันนิษฐานออกเป็นสองกลุ่มอันเป็นข้อสันนิษฐานที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ไทยผู้มีชื่อเสียง กลุ่มแรกกล่าวว่าศูนย์กลางของเมืองทางการค้าฝั่งทะเลตะวันตกของไทยอยู่ที่เมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แต่นักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งให้ความเห็นว่า ตะโกลาคือพื้นที่แห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกันนี้ก็มีเอกสารอ้างอิงจากหลายแหล่ง เช่น หนังสือบันทึกภูมิศาสตร์ของ คลอดิอุส ปโตเลมี ซึ่งเขียนตามคำบอกเล่าของพ่อค้าชื่อ อเล็กซานเดอร์ ประมาณ พ.ศ.๖๙๓ หรือประมาณ พ.ศ.๗๐๘ บันทึกนี้ได้อธิบายถึงดินแดนต่างๆที่ชาวตะวันตกเรียกกันว่าคาบสมุทรทองและแน่นอนตะโกลา(Takola) เป็นหนึ่งในบันทึกนั้นและตั้งอยู่ในดินแดนสุวรรณทวีป ในศิลาจารึกของเมืองตันซอร์ของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ ๑(พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๗๔)มีชื่อเมือง ตไลต ตกโกล์รวมอยู่ด้วย  นอกจากนี้ในคัมภีร์มหานิทเทศ ซึ่งเป็นเอกสารของอินเดียก็ได้กล่าวถึง ตักโกลาแห่งดินแดนสุวรรณภูมิไว้เช่นกัน
กลุ่มที่มีความเห็นว่า ตะโกลาอยู่ที่ตรัง ได้แก่ ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ซึ่งอาจารย์ได้กล่าวอ้างถึง คร.เอช.จี.ควอริชท์ ซึ่งเคยสำรวจบริเวณเมืองตะกั่วป่าและทางข้ามคาบสมุทรโดยผ่านเขาสก ท่านเห็นว่าไม่เหมาะจะเป็นเมืองท่าเรือขนถ่ายสินค้าข้ามแหลม นอกจากนี้ ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐ นักภูมิศาสตร์ทานหนึ่งกล่าวว่า ตามลักษณะภูมิศาสตร์การเดินเรือในเขตมรสุมถ้าจะเดินทางจากลังกาหรืออินเดียตอนใต้มายังสุวรรณภูมิ เมื่อตั้งหางเสือของเรือแล้วแล่นตัดตรงมา อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะนำเรือเข้าฝั่งแหลมทองบริเวณละติจูดที่ ๗ องศาเหนือ ตรงกับจังหวัดตรังพอดี 
 
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ ๑ สมัยสุโขทัย  กล่าวว่า
“ สังฆราชปราชญ์ เรียนจบปิฎกไตร หลัวกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่ศรีธรรมราชมา" ทั้งจารึกนี้ รวมกับตำนานพื้นบ้านทางเหนือ ทางใต้ และท้องถิ่นตรัง ล้วนชี้ไปทางเดียวกันว่า การเดินทางของพุทธศาสนาจากลังกาจะมารวมศูนย์ที่นครศรีธรรมราช ก่อนเข้าสู่สุโขทัย และดินแดนตรังยังทำหน้าที่เช่นเดิม คือ เป็นเมืองท่าปากประตูของนครศรีธรรมราช ความเป็นชุมชนตามทุ่งราบริมแม่น้ำตรังและคลองสาขา รวมทั้งชุมชนชายเขา ย่อมเป็นปึกแผ่นขึ้นแล้วในยุคนี้ อย่างน้อยวัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์ที่อำเภอนาโยง และพระพุทธรูปนอน ทั้งที่ถ้ำพระพุทธและวัดภูเขาทองย่อมยืนยันความเป็นไปได้ของตำนาน รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์ที่ตำนานกล่าวว่า นางเลือดขาวอัญเชิญมาจากลังกา ก็เคยอยู่คู่บ้านเมืองตรังเป็นเวลาหลายร้อยปี เพิ่งจะมาสูญหายไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้เอง

อันดามัน ท้องถิ่นของเรา บ้านของเรา แสดงความคิดเห็น ติดตาม ข่าวสารเตือนภัย ประวัติศาสตร์และสังคมของเรา จุลสารคนท้องถิ่น อันดามันคือบ้านของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.