ตรัง สมัยกรุงศรีอยุธยา-กรุงรัตนโกสินทร์

 
สมัยกรุงศรีอยุธยา  


สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในยุคที่อัลฟองโซเดอร์ (Afonso de Albuquerque) ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกสซึ่งได้นำกองทัพเรือเข้าสู่สุมาตรา ช่องแคบมะลักกา และ น่านน้ำของไทย (ค.ศ.1511-1512 หรือในพ.ศ. ๒๐๕๔ – ๒๐๕๕) ที่อัลฟองโซเดอร์ได้ยกทัพเรือเข้าตีมะละกาได้ในปี ๒๕๐๔ เมื่อทราบว่ามะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทย จึงได้ส่งผู้แทนทางการทูตมาทำสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ๒ ครั้ง และใช้เส้นทางการเดินเรือผ่านท่าเรือเมืองตรัง โดยครั้งแรกได้มอบหมายให้ดูอาร์เตซ เฟอร์นานเดส์ (Duarte Fernandes,ในศตวรรษที่ ๑๖) เดินทางผ่านเข้ามาทางสิงคโปร์ ไปทางอ่าวไทยเพื่อถวายสาส์นและของขวัญแก่เจ้าเมืองอยุธยา และเดินทางกลับโดยผ่านท่าเรือเมืองตรัง และการเดินทางครั้งที่ ๒ ราว พ.ศ.๒๐๕๖ การเดินทางจากมะละกาครั้งนี้ได้มาขึ้นบกที่เมืองตรังแล้วเดินทางต่อไปนครศรีธรรมราชเพื่อลงเรือไปกรุงศรีอยุธยาทางทะเลอ่าวไทย และมีบันทึกจากหนังสือชื่อ The Suma Oriental เป็นหนังสือที่เขียนโดย Pires Tome(ค.ศ.1512-1515) ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางและการใช้ชีวิตในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในดินแดนใหม่ โดยที่เนื่อหาบางตอนได้กล่าวถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทยว่าแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝั่งตะวันออกซึ่งมีพระยานครศรีธรรมราช อุปราชคนที่ ๒ ปกครองตั้งแต่เมืองปะหังขึ้นไปถึงอยุธยา และส่วนของหัวเมืองฝั่งตะวันตกซึ่งมีเมืองตะนาวศรี ตรัง และไทรบุรีอยู่ในราชอำนาจขุนนางผู้หนึ่ง ชื่อ Vya Chacotay จากเนื้อหาที่บันทึกนี้กล่าวไว้แสดงว่าตรังในขณะนั้นไม่ได้ขึ้นต่อนครศรีธรรมราช

 
สมัยกรุงธนบุรี

เมื่อพระเจ้าตากสินปราบชุมนุมพิษณุโลกและพิมายได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีนครศรีธรรมราช ใน พ.ศ.๒๓๑๒ เจ้านคร (หนู) หนีไปถึงปัตตานี กองทัพกรุงธนบุรีตามจับได้ เนื่องจากยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี จึงพระราชทานอภัยโทษ โปรดให้เข้ารับราชการในกรุง แล้วทรงตั้งเจ้านราสุริยวงศ์ พระเจ้าหลานเธอ ปกครองนครศรีธรรมราชในฐานะเจ้าประเทศราช ซึ่งรวมหัวเมืองภาคใต้ทั้งหมด ต่อมา พ.ศ.๒๓๑๙ เจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านคร (หนู) กลับมาปกครองนครฯ อีกครั้ง และยกเมืองขึ้นของนครฯ คือ ไชยา พัทลุง ถลาง ชุมพร ทั้งให้แยกเมืองสงขลา มาขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรี หัวเมืองของนครฯ ในครั้งนั้น จึงมีแต่เมืองตรังและเมืองท่าทองคู่กันในฐานะเป็นเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันตก และฝั่งทะเลตะวันออกเท่านั้น

*สมัยกรุงรัตนโกสิทร์

สมัยราชกาลที่ ๑ ตรังยังเป็นเมืองในกำกับของนครฯ มีผู้ว่าราชการเมืองตรังคนหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นพระยาตรัง (สีไหน) ผู้เป็นกวี ซึ่งถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๓๓๐ แล้วให้พระภักดีบริรักษ์มาว่าราชการแทน พระภักดีบริรักษ์กราบบังคมทูลขอยกเอาเมืองตรังรวมกับเมืองภูรา ชื่อ เมืองตรังภูรา ขณะนั้นมีโต๊ะปังกะหวาหรือพระเพชภักดีศรีสมุทรสงคราม เป็นปลัดเมือง โต๊ะปังกะหวาได้เป็นพระยาลิบง ว่าราชการเมืองต่อจากพระภักดีบริรักษ์ แล้วเกิดเป็นอริวิวาทกับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองตรังไปขึ้นกับกรุงเทพฯ เมื่อพระยาลิบงถึงแก่กรรม หลวงฤทธิสงครามว่าราชการเมืองตรังต่อมา แต่ไม่สันทัดในการบริหารบ้านเมือง ทางราชธานีจึงยกเมืองตรังให้ขึ้นต่อสงขลา ที่ตั้งเมืองอยู่ที่เกาะลิบงตั้งแต่สมัยโต๊ะปังกะหวา 

มีหลักฐานบอก เล่าเรื่องพระยาตรังผู้มีความสามารถทางกวี และมีภรรยาหลายคน เล่ากันว่า ในช่วงที่พระยาตรังไม่อยู่ ภรรยาคนที่ ๓ ถูกชายชู้พาตัวไป และได้เขียนบทกลอนท้าทายไว้ที่ประตูห้องว่า "เราไม่ดีเราไม่พานารีจร ข้ามห้วยสิงขร ชะง่อนผา" พระยาตรังกลับมาเห็นก็โกรธมาก และเขียนกลอนไปว่า "เราไม่เก่ง เราไม่พานารีจร จะเฆี่ยนพ่อให้มันยับลงกับหวาย" แล้วตามหาภรรยากับชายชู้จนพบ นำมาเฆี่ยน ใช้ไม้ไผ่ตงทั้งลำคีบเป็นตับปลาย่างไฟจนตาย ขุดหลุมฝัง แล้วให้ช้างเหยียบที่บริเวณวัดควนธานี บางกระแสเล่าว่า ฝังไว้ที่วัดพระงาม อาจเป็นไปได้ว่าพระยาตรังถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ เพราะเหตุนี้ 

ใน พ.ศ.๒๓๔๕ ทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึงหลวงอุไภยราชธานี เป็นผู้พยาบาลเมืองตรัง ถือศักดินา ๑๖๐๐ แสดงว่า เมืองตรังเป็นเมืองสำคัญ เพราะเจ้าเมืองที่ถือศักดินา ๑๖๐๐ ของนครศรีธรรมราชขณะนั้น มีเฉพาะเมืองตรังกับเมืองท่าทองเท่านั้น ต่อมา พ.ศ.๒๓๕๕ ในทำเนียบกรมการเมืองตรังของเก่า กล่าวถึงการจัดระเบียบเมืองตรังอีกครั้ง มีชื่อพระอุไภยราชธานีเป็นผู้ว่าราชการเมือง แต่จะอยู่ในตำแหน่งกี่ปีไม่แน่ชัด พระอุไภยผู้นี้มีหลักฐานคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่าเป็นผู้สร้างศาลหลักเมือง ตรังที่ตำบลควนธานี พร้อม ๆ กันนี้ พระยานคร (น้อย) ก็จัดการเรื่องการค้าขายกับหัวเมืองมลายู และอินเดียผ่านทางท่าเรือกันตัง สินค้าสำคัญ มีช้างและดีบุก การเก็บภาษีที่สำคัญอีกทางหนึ่งได้จากรังนกและปลิงทะเล

พ.ศ.๒๓๖๗ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่เกาะปีนัง ได้ส่งร้อยโท เจมส์ โลว์ เป็นฑูตเดินทางมาเพื่อเจรจาความเมืองกับพระยานคร (น้อย) แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเมืองนครฯ ฝ่ายพระยานครฯ ก็ไม่ได้ออกมาพบ เพียงแต่ส่งบุตรชาย (ซึ่งคงจะเป็นนายน้อยกลาง ภายหลังได้เป็นพระเสน่หามนตรี) ไปพบ เจมส์ โลว์ ที่หมู่บ้านพระม่วงปากน้ำตรัง ระยะนี้เมืองตรังยังคงเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ สินค้าออกมี ข้าว ดีบุก งาช้าง รังนก ฯลฯ ทั้งยังเป็นอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ มีคนประจำทำงานต่อเรืออยู่ถึง ๑,๐๐๐ คน 

พ.ศ.๒๓๘๑ มีงานถวายพระเพลิงศพพระสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนี พันปีหลวงในรัชกาลที่ ๓ พระยาสงขลา เจ้าพระยานคร (น้อย) เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตนกูมะหะหมัดสอัด ตนกูมะหะหมัดอาเกบ หลานเจ้าพระยาไทรบุรีก่อกบฎ ยึดเมืองไทรบุรีได้เข้าแล้วตีปัตตานี สงขลา และหัวเมืองแขกทั้งเจ็ด ทั้งให้หวันหมาดหลี สลัดแขกที่เกาะยาว เข้ามาตีเมืองตรังด้วย ขณะนั้นมีพระสงครามวิชิตเป็นผู้ว่าราชการเมือง ปรากฏว่า สู้พวกโจรสลัดไม่ได้ หนีแตกมาพร้อมกับคนหกคนไปแจ้งข่าวแก่เมืองนครฯ พระสงครามวิชิตผู้นี้ ชื่อม่วง เป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ภายหลังคงจะได้เป็นพระอุไทยธานีปกครองเมืองตรังต่อมา แล้วคงจะมีเหตุให้ถูกถอดจากราชการ เป็นนายม่วงอุไทยธานีนอกราชการ เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จฯ สงขลา พ.ศ.๒๔๐๒ ได้ตามเสด็จฯ แล้วหนีเลยมาเมืองตรัง จึงถูกสั่งให้นำตัวเข้ากรุงเทพฯ โดยเร็ว ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปสักเลกที่ชุมพรและถึงแก่กรรมที่เมืองนั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕

หลังพระอุไทยธานี เมืองตรังมีผู้ว่าราชการเมืองอีกคนหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นพระยาตรังนาแขก (สิงห์) สุดท้ายป่วยถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ ทางกรุงเทพฯ จึงมีสารตราแต่งตั้งหลวงพิชัยธานปีปลัดเมืองให้เป็น พระตรังควิษยานุรักษ์พิทักษ์รัฐสีมา (ต้นตระกูล วิทยารัฐ) จนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๖ ปรากฏว่า เมืองตรังว่าง เจ้าเมืองมีสารตรามอบให้พระศิริธรรมบริรักษ์ ปลัดเมืองนครศรีธรรมราชรักษาเมืองตรัง 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตรังอยู่ในฐานะเมืองท่าค้าขายของนครศรีธรรมราช ไม่ได้เป็นเมืองอิสระ เพราะผู้ทำการค้าและเก็บภาษี คือ เมืองนครฯ ยกเว้นครั้งที่พระยาลิบงเป็นผู้ว่าราชการเมืองเท่านั้น ที่ตรังได้เป็นอิสระปกครองตนเอง สามารถจัดการผลประโยชน์ทางการค้าส่งภาษีตรงต่อกรุงเทพฯ ได้เอง อีกฐานะหนึ่งของตรัง คือ เป็นเมืองหน้าด่านที่เป็นแหล่งรวมกำลังกองทัพเรือไว้ป้องกันศัตรูอันได้แก่ พม่า และคอยกำราบหัวเมืองมลายูที่มักจะเอาใจออกห่างอยู่เสมอ สภาพเหล่านี้สิ้นสุดลงเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ส่วนหัวเมืองมลายูนั้นไทยได้ยุติการขยายอิทธิพลลงไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๙ หลังจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ.๒๓๘๒ แล้ว ทางเมืองนครศรีธรรมราชก็มิได้สนใจเรื่องการทำนุบำรุงหรือการค้าขายผ่านทาง เมืองตรังต่อไปอีก เมืองตรังคลายจึงมีความสำคัญลง ขณะที่เมืองระนอง ภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า มีความสำคัญมากขึ้นในฐานะเมืองดีบุกที่ทำรายได้ปีละมาก ๆ

*(คัดจากบทความประวัติศาสตร์จังหวัดตรัง เขียนโดย อ.สุนทรี สังข์อยุทธ์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุฯ จังหวัดตรัง)



อันดามัน อันดามัน ท้องถิ่นของเรา บ้านของเรา แสดงความคิดเห็น ติดตาม ข่าวสารเตือนภัย ประวัติศาสตร์และสังคมของเรา จุลสารคนท้องถิ่น อันดามันคือบ้านของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.