ประวัติศาสตร์จังหวัดตรัง

จังหวัดตรัง


ตรัง มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานแม้จะไม่มีชื่อเสียงมากมายในหน้าประวัติศาสตร์ไทยแต่ตรังก็ยังเป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งมีการศึกษาค้นพบหลักฐานอันบ่งบอกถึงความเป็นมาในอดีตเกี่ยวกับกลุ่มคนซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนต่างๆของจังหวัดตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ ๖,๐๐๐ ถึง ๙,๒๘๐ ปีมาแล้ว ในปีพ.ศ.๒๕๓๔ ศ.ดร.สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะได้เคยศึกษาและค้นพบหลักฐานโบราณวัตถุหลายร้อยชิ้นในพื้นที่ ได้แก่ เครื่องมือสะเก็ดหิน ๗๒๑ ชิ้น เครื่องหินกะเทาะ(ใช้ในยุคเก่า) ๑๐๒ ชิ้น สะเก็ดหิน ๓๖๗ ชิ้น ขวานหินขัด หม้อสามขา และ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ทำจากดินเผาผิวเรียบมีรูปลายเชือกทาบ รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ถูกค้นพบในพื้นที่ต่างๆของจังหวัด เช่น ถ้ำซาไก(เพิงผาลาคนแก่)บ้านควนไม้ดำที่อำเภอปะเหลียน ถ้ำเขาไม้แก้วที่อำเภอสิเกา ถ้ำหน้าเขาที่อำเภอนาโยง ถ้ำเขาหญ้าระที่อำเภอปะเหลียน ถ้ำหมูดินและเขาหลังจันที่ตำบลปากแจ่มอำเภอห้วยยอด นอกจากนี้ยังเคยพบจิตรกรรมตามผนังถ้ำเป็นภาพเขียนระบายสีในรูปแบบต่างๆ เช่น ในถ้ำตรา ที่ตำบลปากแจ่มอำเภอห้วยยอด มีลักษณะเป็นดวงตราทรงกลม ภาพเขียนในถ้ำเขาน้ำพรายมีลักษณะเป็นรูปเขียนสีแดงระบายสีทึบเรียงต่อกัน และภาพเขียนสีแดงรูปปลาที่พบในเขาแบนะ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม หลักฐานเหล่านี้มีข้อสรุปเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งยืนยันว่า ตรังเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่ช่วงของยุคหินเก่าตอนปลาย

ยุคอาณาจักรโบราณ
ยุคโบราณซึ่งเป็นยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ มีการบันทึกด้วยลายลักษณ์อักษรมากขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก่อนกรุงสุโขทัย แหล่งโบราณวัตถุและโบราณคดีที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันตกอยู่ใน ๓ แหล่ง ได้แก่ในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในแถบนี้ ลำดับต่อมาคือที่ควนลูกปัดในอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และโบราณวัตถุในยุคนี้ก็ยังพบในพื้นที่ตามเขาใกล้แม่น้ำตรัง บริเวณอำเภอห้วยยอดด้วยเช่นเดียวกัน แม่น้ำตรังเป็นเส้นทางไปสู่แม่น้ำตาปีในนครศรีธรรมราชและพัทลุงได้ ส่วนแม่น้ำปะเหลียนสามารถเป็นต้นทางในการเข้าสู่บ้านตระรวมทั้งช่องเขาที่สามารถเดินทางไปสู่พัทลุงได้เช่นกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านฝั่งตะวันตกของตรังนั้นเป็นเส้นทางอันสำคัญในการติดต่อกับอารยธรรมภายนอกได้อีกทางหนึ่งด้วย แม้หลักฐานบางอย่างจะไม่ชัดเจนก็ตาม เช่น การติดต่อกับพ่อค้าชาวอินเดียที่ท่าเรือกันตังและปะเหลียน เป็นต้น
แม้ประวัติศาสตร์เมืองตรังจะมีหลักฐานลายลักษณ์อักษรน้อยแต่ความเกี่ยวข้องกันระหว่างประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราชและเมืองตรังก็มีตำนานที่อธิบายถึงตรังอยู่เช่นกัน เช่น ตำนานการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวถึงเมืองตรังไว้ตอนหนึ่งว่า 

“พญาโคสีหราชผู้ครองเมืองนครบุรี  ได้พระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในครอบครอง  ต่อมาท้าวอังกุตราชเจ้าเมืองไชยบุรีอยากได้พระทันตธาตุนั้นจึงยกทัพไปช่วง ชิง  พระยาโคสีหราชทรงคุมทัพออกต่อสู้และทรงสั่งพระธนกุมารกับนางเหมมาลา  โอรสและธิดาไว้ว่า  ถ้าพระองค์พ่ายแพ้แก่ข้าศึกให้นำพระทันตธาตุหลบหนคไปไว้ที่เมืองลังกา  ปรากฏว่าพระองค์ทรงเสียทีถึงขาดคอช้าง  นางเหมมาลาและพระธนกุมารจึงอัญเชิญพระทันตธาตุลงสำเภาหนี  แต่ปรากฏว่าสำเภานั้นอับปางลงกลางทาง  สองพี่น้องสามารถขึ้นบกได้บุกป่ามาจนพบหาดทรายแก้วแห่งหนึ่งจึงได้นำพระทันต ธาตุไปฝังไว้  ต่อมามีพระมหาเถรพรมเทพทราบว่าพระทันตธาตุได้เสด็จมาถึงหาดทรายแก้วนั้น  จึงเดินทางมานมัสการพบกับสองกุมารรู้ความประสงค์จึงรับช่วยเหลืโดยสั่งว่า ถ้ามีภัยอะไรบังเกิดขึ้นให้ตั้งจิตระลึกถึงท่าน  สองกุมารจึงกราบลาพระมหาเถรพรหมเทพไปพร้อมกับพระทันตธาตุเดินทางต่อไปจนถึง เมืองตรัง...ขออาศัยสำเภาพ่อค้าออกทะเล...

เมืองตรังในยุคนี้อาจหมายถึงเมืองท่าแห่งหนึ่งที่โอรสและธิดาของพญาโคสีหราช ใช้ลงเรือสำเภาของพ่อค้าออกสู่ทะเลดังที่กล่าวมา


ภาพจาก mod.go.th
ขับเคลื่อนโดย Blogger.