ซิละหรือกาหยง

ชุมชนชาวมุสลิมมีศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นที่มีทั้งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชนทีมีเชื้อสายมลายูและชวา นอกจากนี้ยังมีสันทนาการต่างๆที่นิยมเล่นกันในชุมชนและมีความคล้ายกลึงกับชุมชนท้องถิ่นไทยในภาคต่างๆอีกด้วย
ภาพจาก:Tropenmuseum, part of the National Museum of World CulturesCC BY-SA 3.0Link  

ซีละ หรือ ปัดกาหยง ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันว่าเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันกันในกลุ่มประเทศอาเซี่ยนนั่นคือ ปัญจักซีลัต (Pencak Silat) ซิละ หรือ กาหยงเป็นศิลปะการต่อสู้ของชาวไทยมุสลิม ชาวมาเลเซีย และชาวอินโดนีเซีย และโดยเฉพาะชาวมุสลิมจังหวัดตรังนั้นได้มีการฝึกฝนและแสดงสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย (ผู้เขียนเห็นการแสดงซิละในหมู่บ้านครั้งล่าสุดประมาณ พ.ศ.2534 โดยได้มีการบันทึกเทปโทรทัศน์ที่หน้ามัสยิดบ้านสิเหร่ อำเภอกันตัง จังหวัดตรังและออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ในรายการชีพจรลงเท้า) แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะหาผู้สันทัดในการรำมวยซิละยากมากเนื่องจากลูกหลานในหมู่บ้านรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจสืบทอดมรดกชิ้นนี้ไว้ แต่จะขอนำลักษณะการแสดงซิละมาอธิบายพอสังเขปดังจะกล่าวในลำดับต่อไป

ปัดกายง หรือซิละ ของชาวตรังเป็นการร่ายรำท่วงท่าการต่อสู้ที่สวยงามมากกว่าการลงแรงต่อสู้ด้วยกำลัง ท่าร่ายรำของซิละใช้อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายในการป้องกันตัวเอง การข่มขวัญคู่ต่อสู้และการอาศัยจังหวะเข้าโจมตีในท่วงท่าที่สวยงาม มีทั้งการใช้ข้อศอก เข่า อุ้งมือและหมัด  แต่การออกอาวุธที่สำคัญที่สุดก็คือ มือ เพราะด้วยการใช้ข้อมือ ข้อนิ้ว และปลายนิ้วที่แข็งแรง แต่ภาพที่แสดงออกมาต่อสายตาของผู้ชมนั้นเหมือนเป็นการฟ้อนรำ ตรงกันข้ามในมุมมองของคู่ต่อสู้การสะบัดร่ายรำของมือนั้นคือการโจมตีที่อันตรายมาก คนเฒ่าคนแก่ที่มีประสบการณ์ในการต่อสู้แบบซิละนี้ มักให้ความเห็นว่า ซิละเป็นการต่อสู้ที่รวดเร็ว และออกอาวุธรุนแรงมากกว่ามวยไทย เพราะการทิ่มปลายนิ้วที่แข็งแรงลงบนร่างกายของคู่ต่อสู้บริเวณลิ้นปี่ ใต้ชายโครงด้วยความแรงนั้นมีผลให้เกิดอาการจุก อย่างไรก็ตาม การแสดงซิละสำหรับมุสลิมตรังนั้นไม่ได้พบเห็นกันง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่จะแสดงกันในงานมงคลต่างๆเช่น งานแต่งงาน ในพิธีรับขบวนแห่ของเจ้าบ่าวที่มายังบ้านของเจ้าสาว พิธีเข้าสุนัตหมู่ หรือแม้แต่งานใหญ่ที่จัดเพื่อต้อนรับแขกคนสำคัญที่มาเยือนหมู่บ้าน เป็นต้น

ภาพจาก Pinterest

การจัดแสดงศิลปะการต่อสู้ซิละในชุมชนมุสลิมนั้นมักจัดในโอกาสสำคัญต่างๆที่กล่าวมาแล้วเพื่อความบันเทิงใจและความสนุกสนานของผู้มาร่วมงานเป็นสำคัญ การแต่งกายของนักซิละนั้นจะเน้นความสวยงามตั้งแต่หัวจรดเท้า เช่น หมวกและผ้าโพกศรีษะแบบชุดประจำชาติของชาวมลายู เสื้อคอตั้ง กางเกงขายาว มีผ้าโสร่ง หรือเรียกว่าผ้าซอเกตลายสีสดใสสวมทับ พร้อมกับมีผ้าลือปักคาดเอว หรือคาดเข็มขัดทับโสร่งให้ประชับ

ตัวอย่าง ซิละในสงขลา(เนื่องจากปัจจุบันในจังหวัดตรัง ไม่มีผู้สืบทอด)

เครื่องดนดรีที่ใช้ประกอบการแสดงซิละ ได้แก่ กลองแขก 1 คู่ ฆ้อง ปี่ และไม้กลับ 1 ชุด เมื่อนักซิละ ขึ้นสู้สังเวียนกลางลานดิน ดนตรีจะเล่นเป็นจังหวะจากช้าๆก่อนเพื่อเรียกคนดูให้เข้ามารายรอบ และจังหวะเร่งเร็วขึ้นในขณะที่การต่อสู้และร่ายรำซิละ กำลังเข้มข้น  ก่อนนักซีละจะขึ้นเวทีนั้นต้องมีการลงครู และทำความเคารพซึ่งกันและกันด้วยกัน ยาบัดตางัน หรือการจับมือของคู่ต่อสู้และมาแตะที่บริเวณหน้าผากของตนเอง เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อคู่ต่อสู่ จากนั้น จึงค่อยวาดลวดลายซิละ ด้วยทาทางต่างๆเช่น การกระทืบเท้าให้เกิดเสียงดัง หรือเอาฝ่ามือตบบริเวณหน้าขาของตน การรำร่อน การใช้เท้ากวาดพื้น เดินหน้า ถอยหลัง ป้องกันและโจมตีคู่ต่อสู้ ตามจังหวะดนตรีที่เร่งเร้า การโจมตีคู่ต่อสู้ด้วยการใช้เข่าดันขาฝ่ายตรงข้ามและฟาดมือ ให้โดนหมวกของฝ่ายตรงข้ามหลุดปลิวออกไปได้แสดงว่าเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขันครั้งนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันซิละ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ของบรรพบุรุษของมุสลิมชาวตรังได้เลือนหายไปจากชุมชนแล้ว สืบเนื่องจากไม่มีผู้สืบทอด



ขับเคลื่อนโดย Blogger.