วิถีชุมชนมุสลิมตรัง

การรักษาเครือญาติและการรักเพื่อนบ้านเป็นคำสอนสำคัญของศาสนา

ชุมชนมุสลิมตรัง,เที่ยวตรัง
มัสยิดเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและการศึกษา

วิถีชีวิตชาวชนบทไทยในอดีตส่วนใหญ่จะมีความผูกพันอยู่กับเครือญาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ศาสนา ศีลธรรม ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคมชนบทแต่ละภาคของไทยมีบริบทที่แตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ และที่มาของเผ่าพันธ์ุซึ่งเป็นตัวหล่อหลอมให้สมาชิกในสังคมมีทัศนคติ และการดำเนินชีวิตโดยภาพรวมนั้นมีความแตกต่างกันไป หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"วิถีชุมชน" ต่อไปนี้ผมจะขอเล่าย้อนรำลึกถึงชีวิตของชุมชนมุสลิมในจังหวัดตรัง

  ในวัยเด็กนั้นเราได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่าง และจดจำอย่างแม่นยำ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่าสามสิบปี ผมจึงขอยกตัวอย่างวิถีชีวิตของชาวบ้านสิเหร่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามสาขาซุนนี ในสำนักคิด(มัซฮับ)ทางวิชาการของท่านอิหม่ามชาฟีอี ประมาณ 95 เปอร์เซ็น ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็น จะเป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตามการนับถือศาสนาที่ต่างกันนั้นไม่ได้มีผลกระทบใดๆต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของพี่น้องไทยในชุมชนแห่งนี้ ความสัมพันธ์ของคนในตำบลนี้และในจังหวัดตรังโดยทั่วไปจะมีความรู้สึกรัก ผูกพัน และถ้อยทีถ้อยอาศัยกันฉันญาติพี่น้องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 เชื้อสาย
จุดเด่นของมุสลิมสิเหร่คือส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายมลายู เช่นเดียวกับพี่น้องในจังหวัดต่างๆตั้งแต่ จังหวัดสตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช พังงา ระนอง ไปจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ภาษาพูด
อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นคนไทยเชื้อสายมลายูแต่ก็มีความแตกต่างกับชาวมลายูที่อาศัยอยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ เพราะสำเนียงภาษามลายูที่คนอายุรุ่น 60 ปีขึ้นไปสนทนากันนั้นจะเป็นภาษามลายูกลางอย่างที่ใช้กันอยู่ในมาเลเซีย และสิงคโปร์ปัจจุบัน ส่วนสำเนียงภาษาพูดของพี่น้องไทยมลายูในพื้นที่ 4 จังหวัดนั้นจะเป็นภาษามลายูถิ่น

วิถีชิวิต
คนสิเหร่สมัยก่อนนิยมประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทะเล ส่วนใหญ่จะว่ายน้ำเก่งตั้งแต่เด็กเนื่องจากมีลำคลองใหล่ผ่านกลางหมู่บ้าน และคนสมัยก่อนมีช่างฝีมือต่อเรือหางยาวได้หลายคน การประกอบอาชีพสมัยก่อนนั้นจะใช้เรือเป็นเครื่องมือ เช่น การประมง เรือโดยสารข้ามฟาก(แม่น้ำตรัง อำเภอกันตัง และจากชายฝั่งไปยังหมู่เกาะต่างๆในทะเลอันดามัน) ส่วนสมาชิกชุมชนที่ไม่ชอบการทำงานกลางน้ำกลางทะเลก็จะทำสวนยาง ทำไร่ ปลูกข่าวไร่บนเนินเขา(ลูกควน) การเลี้ยงช้างไว้บริการลากไม้ ด้วยเหตุนี้ ข้าวปลาอาหารจึงไม่มีขาดตกบอกพร่องเพราะสมัยก่อนชาวบ้านนิยมทำนาปลูกข้าวกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนากลางหมู่บ้านและนาป่าจาก(นาป่าจากคือที่นาที่เป็นดินโคลนตมในเขตชายเลน ริมฝั่งแม่น้ำตรัง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มักจะนิยมปลูกต้นจาก และมีน้ำกร่อยมากในบริเวณนั้น) การประกอบอาชีพที่ผูกพันอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินี่เองที่รวมคนเข้าไว้ด้วยกันเป็นหมู่เหล่าให้มีความรักความสามัคคีกันไม่ว่าเพื่อนบ้านจะมีเชื้อสายใด นับถือศาสนาใดก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยความรู้สึกว่าเป็นญาติ และเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกัน ไปมาหาสู่กันตลอดทั้งงานขึ้นบ้านใหม่ งานแตกงาน ฯลฯ

  ชาวบ้านรู้จักมักคุ้นกันดี ไปมาหาสู่กันตลอดกับหมู่บ้านใกล้เคียง ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะเดินทางไปเยี่ยม ไปเฝ้าดูอาการ ให้กำลังใจญาติมิตร นำของกินของใช้ไปฝาก นั่งร่วมวงสนทนากัน ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ บุตรหลานของคนเหล่านั้นจึงรู้จักกันจนถึงปัจจุบัน

ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม
พิธีการเข้าสุนัตหรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าการว่าเป็นแขก เป็นอย่างไรไปดูกัน
การเข้าสุนัต
การเข้าสุนัตสมัยก่อนจะแต่งตัวแบบมลายู และเดินขบวนแห่

สมัยนี้ตามสะดวก เนื่องจากไม่มีการแห่ขบวนใดๆ

ประเพณีที่ปฎิบัติสืบทอดกันมายาวนาน คือ การเข้าสุนัตหรือการคลิปหนังปลายอวัยวะเพศของเด็กผู้ชายเพื่อความสะอาดระยะยาวในจุดซ่อนเร้น สมัยนี้เราคงชินตากับการเข้าสุนัตที่ต่างคนต่างทำ โดยผู้ปกครองมักจะพาเด็กไปทำการเข้าสุนัตกับแพทย์และผู้ที่มีภูมิปัญญาเชี่ยวชาญ พอแผลหายได้จะได้รับประสบการณ์เพียงอย่างเดียวคือ เคยเจ็บ แต่สมัยก่อนนั้นในหมู่บ้านจะจัดเป็นงานใหญ่โตพอสมควร โดยชาวบ้านจะนัดแนะกันเพื่อส่งลูกหลานเข้าร่วมงานเข้าสุนัตเป็นหมู่คณะ คือเข้าสุนัตพร้อมกันคราวละหลายสิบคนหรือบางครั้ง งานใหญ่จริงๆก็จะมีชาวบ้านจากที่อื่นมาร่วมสมทบมากกว่าร้อยคนเลยทีเดียว การเข้าสุนัตหมู่นี่เองจึงเป็นโอกาสในการแสดงความรื่นเริงกันภายในชุมชน มีงานเลี้ยงอาหาร มีการรับรองแขกทั้งคณะแพทย์จากโรงพยาบาล และหน่วยงานราชการส่วนจังหวัด รวมทั้งมีงานเลี้ยงอากหารและทำที่พักชั่วคราวให้กับผู้ปกครองและบรรดาเด็กๆที่มาร่วมงานด้วย การแสดงและการตีกลองร้องป่าวเป็นสันทนาการของคนในชุมชนที่ต้องการให้เด็กๆมีความสุข และได้รับประสบการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ที่ดีงามของคนในชุมชน  เรียกได้ว่างานนี้มีทั้งเจ็บ ทั้งสนุก และเกิดความภาคภูมิใจในการเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว และบรรดาผู้ปกครองก็บจะมีความรู้สึกมีความสุขระคนกันไปกับการเห็นเด็กๆ งอแง ฯลฯ

  เด็กผู้ชายที่เข้าร่วมงานเข้าสุนัตหมู่จะแต่งองค์ทรงเครื่องเสมือนเจ้าบ่าวในงานแต่งกันเลยทีเดียว เพราะในขบวนแห่จะมีสีสรรมากเป็นพิเศษ ในวันนี้ เด็กๆจะแต่งตัวด้วยเสื้อเชิ้ตและนุ่งกางเกงขายาวอย่างสุภาพ และสวมหมวกแบบชาวมลายู โดยมีผ้าโสร่งพับครึ่งคาดที่เอวและตกแต่งด้วยดอกไม้สวยงาม หน้าที่ของกลุ่มชายฉกรรจ์ในขบวนแห่คือการ แบกเด็กๆแล้วเดินแห่ในบริเวณหมู่บ้าน พร้อมเสียงกลองแขกเป็นจังหวะ ประสานด้วยเครื่องดนตรีอื่นๆเช่น ปี่ กลับ ฆ้อง เป็นต้น ในช่วงของการเดินขบวนแห่นี้เป็นช่วงสนุกสนานของเด็กๆเป็นที่สุด เพราะมีคนแบกและมีคนติดตามแสดงความยินดีอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งใกล้ถึงเวลานัดหมาย เด็กๆทั้งหมดจะต้องลงอาบน้ำในคลองเพื่อให้ผ่อนคลายและร่างกายจะเย็นลงมากที่สุดก่อนจะเข้าคิวให้หมอทำการเข้าสุนัต จากวัฒนธรมประเพณีเข้าสุนัตนี้เราจะเห็นได้ว่า คลอง มัสยิด และสันทนาการ เข้ามามีบทบาทหลอมรวมให้เกิดความรักในศีลธรรมทางศาสนาและความรักสามัคคีในชุมชน เนื่องจากคลองสิเหร่เป็นที่อาบน้ำ ที่ซักผ้าและเป็นแหล่งพบปะกันของเพื่อนบ้านนั่นเอง ส่วนมัสยิดเป็นศูนย์กลางรวมใจของทุกคนในชุมชน และกิจกรรมสันทนาการด้วยเสียงปี่เสียงกลองคือการผ่อนคลายและการสร้างจุดรวมตัวทางสังคมให้รู้สึกผูกพันกับท้องถิ่นและเชื้อสายของตนเอง นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน ซึ่งก็รู้สึกเป็นความภาคภูมิใจของคนในหมู่บ้านมากเช่นกันที่หน่วยงานต่างๆให้ความสำคัญกับการเข้าสุนัตหมู่



ขอบคุณภาพ จากคุณ สนธยา หมวดแดหวา


Thailand
ชีวิตประจำวันและการเดินทาง

ในส่วนของวิถิชีวิตด้านอื่นๆของมุสลิมตรังจะนำมาเสนอในครั้งต่อไป โปรดคอยติดตามชม

ขับเคลื่อนโดย Blogger.