เล่าเรื่องเที่ยวรอบเกาะลิบง
Libong Stories
เกาะลิบงเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง ปัจจุบันได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน จากแต่เดิมมีแค่หมู่บ้านโคกสะท้อน หรือบ้านพร้าว ปัจจุบันมีหมู่บ้านบาตูปูเต๊ะ บ้านหลังเขา และบ้านหาดทรายแก้วเพิ่มเข้ามา เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นทั้งจากการขยายตัวของประชากรภายในเกาะและการอพยพเข้าไปอยู่อาศัยของคนต่างถิ่นเพิ่มมากขึ้นเกาะลิบงมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย จากสภาพพื้นที่ วิถีชีวิต และความเป็นชุมชนที่ขยายตัวมาจากเชื้อสายมลายู แขกชาวเล และมลายูชวา ซึ่งแต่เดิมประชากรส่วนใหญ่ในเกาะจะสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูเคดาร์ และชาวมลายูชวาจากอินโดนีเซีย จากที่เคยเป็นเมืองเก่าปกครองตนเอง เคยมีวิถีชีวิตแบบชาวเลที่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อเรือ การเดินเรือ ถึงปัจจุบันเรื่องราวในอดีตของชุมชนแห่งนี้ก็ยังคงมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย เกาะลิบงจึงเป็นแหล่งประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง ซึ่งเรายังคงสืบค้นและเรียนรู้ถึงความสำคัญของอดีตบนการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคใหม่ที่สับสนนี้ต่อไป ดังมีเรื่องเล่าย่อๆ ดังต่อไปนี้
- คลองเคียน
ตามตำนาน ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ด้านทิศตะวันออกของเกาะ คลองสายนี้เคยเป็นสถานที่ที่ใช้ในการลอยเรือ ตะเลาะบาลอ ซึ่งเป็นประเพณีการลอยเรือของชาวเล (เช่นเดียวกับชาวอุรุกลาโว้ยในเกาะภูเก็ต) เชื่อกันว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ความอัปมงคลออกไปจากชุมชน ชาวเลจะใช้ไม้นุ่น ไม้ระกำมาต่อเป็นเรือลำเล็ก ภายในตกแต่งด้วยใบเรือ กรรเชียงเรือ ซึ่งจะทำให้คล้ายกับรูปเรือจริงๆที่สามารถลอยมันออกไปยังทะเลที่กว้างใหญ่ได้ ประเพณีการลอยเรือนี้จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนขึ้น 13 ค่ำ และเดือนแรม 1 ค่ำ ในช่วงเดือน 6 และเดือน 11 โดยจะมีการร้องเพลง เต้นรำฉลองกันต่อเนื่อง 3 วัน 3 คืน
ในพิธีลอยเรือ ชาวเลจะตัดเล็บ ตัดผม และชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกายใส่ลงไปในเรือ และมีเครื่องเส้นไหว้ต่างๆเช่น ข้าวสาร เกลือ ขนมแดง ขนมขาว เคย(กะปิ) และผลไม้นานาชนิดที่หามาได้สักจำนวนหนึ่ง คนทำพิธีในสมัยนั้นได้แก่ โต๊ะสมัน สารสิทธิ์และนายเพ็ญ เจ๊หลง จะเป็นคนเชิญพิธี บอกกล่าวให้สิ่งไม่ดีต่างๆที่มีอยู่ในหมู่บ้านให้ลอยหายไปกับเรือ โดยมีนายเหม จิเหลา เป็นคนกล่าวขอพร ในการส่งเรือลอยลงไปในคลองเพื่อให้ลอยออกไปทะเลนั้น จะห้ามคนที่อยู่บนฝั่งหันไปดูเรือ เพราะเชื่อว่าถ้ามีคนหันไปดูเรือขณะที่มันถูกส่งลงทะเลนั้น จะทำให้โรคร้ายและสิ่งไม่ดียังคงหลงเหลืออยู่ในหมู่บ้านต่อไป (ปัจจุบันชาวเกาะลิบงยกเลิกพิธีลอยเรือแล้ว)
ภาพ:ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ทีมาของเรื่องเล่า:เอกสารวิจัยชุมชนสืบสานตำนานตะลิบง เมษายน 2547
ไม่มีความคิดเห็น: