แหลมปันหยัง

Libong Stories เล่าเรื่องอดีตเพื่อมองปัจจุบัน

เกาะลิบง,เที่ยวตรัง

เกาะลิบงมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย จากสภาพพื้นที่ วิถีชีวิต และความเป็นชุมชนที่ขยายตัวมาจากเชื้อสายมลายู แขกชาวเล และมลายูชวา ซึ่งแต่เดิมประชากรส่วนใหญ่ในเกาะจะสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูเคดาร์ และชาวมลายูชวาจากอินโดนีเซีย จากที่เคยเป็นเมืองเก่าปกครองตนเอง เคยมีวิถีชีวิตแบบชาวเลที่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อเรือ การเดินเรือ ถึงปัจจุบันเรื่องราวในอดีตของชุมชนแห่งนี้ก็ยังคงมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย เกาะลิบงจึงเป็นแหล่งประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง ซึ่งเรายังคงสืบค้นและเรียนรู้ถึงความสำคัญของอดีตบนการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคใหม่ที่สับสนนี้ต่อไป ดังมีเรื่องเล่าย่อๆ ดังต่อไปนี้

ภาพจากเว็บสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  • แหลมปันหยัง
    แหลมปันหยัง มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกสู่ทะเลด้านทิศตะวันออกของเกาะลิบง ในพื้นที่บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 4 ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของศาลที่เรียกกันว่า ศาลาทวด สมัยก่อนมีความเชื่อกันว่าทวดแหลมปันหยังเป็นงูใหญ่ตัวเสียขาวที่มีอายุหลายร้อยปี บางครั้งเคยมีคนเห็นว่าทวดแหลมปันหยังเคยปรากฏตัวเป็นคนชราใส่เสื้อคลุม(ยูบะ/เสื้อคลุมยาว) สีขาวและมีเครายาว ในสมัยก่อนแหลมปันหยังเป็นเสมือนที่พึ่งทางจิตใจของชาวเล มักถูกใช้เป็นสถานที่บนบานศาลกล่าวขอให้โชคดีในการออกเรือเพื่อหาสัตว์น้ำในทะเล และเป็นที่พึ่งขอพรสะเดาะเคราะห์ของชาวเลเพื่อให้หายจากโรคร้าย  เรียกกันว่า พิธีฟาดฟี หรือฟาดเคราะห์  โรคดีเอาไว้ โรคร้ายออกไป ตรงจุดบริเวณปลายแหลมตรงปากร่องน้ำ ชาวเลที่มีความเชื่อก็มักจะไปแก้บนด้วยการจุดประทัด และไปบนบานเพื่อให้ได้ปลาเยอะๆ เดินทางไปกลับปลอดภัย ฯลฯ

    แหลมปันหยังจึงเป็นสถานที่สัญญาบูชาทวดตามความเชื่อของชาวเลสมัยก่อน บางครั้งมีการนำไก่ย่าง ข้าว ฯลฯ ไปวางไว้ที่ศาลาทวด เพื่อเป็นการตอบแทน ในปัจจุบันพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวเลในลักษณะนี้ได้สูญหายไปแล้ว เพราะเป็นความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล ชาวเลรุ่นใหม่ๆก็ไม่ได้ยึดติดกับความเชื่อโบราณ พิธีเหล่านี้ได้สูญหายไปพร้อมกับความเจริญทางสังคมและปัญญาของยุคสมัยใหม่ รวมทั้งความเชื่อเรื่องการบนบานศาลกล่าวนั้นขัดแย้งกับความเชื่อในหลักการยึดมั่นของศาสนาอีกประการหนึ่งด้วย
  • สะพานช้าง
    ท่าเรือเกาะลิบง เป็นท่าเรือค้าขาย เป็นท่าเรือรบ สมัยพระยาลิบง พ.ศ.2331 กล่าวกันว่าสยามมีการค้าขายกับต่างประเทศ และสินค้าที่ค้าขายส่งต่อกันที่เกาะลิบงก็คือ ช้าง และแร่ดีบุก โดยมีการค้าขายกันที่ปากน้ำเมืองตรัง และท่าเรือลิบงจึงเป็นที่รับส่งช้างซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า สะพานช้าง นอกจากนี้ยังมีคลองช้าง ซึ่งเป็นที่ตื้นในช่วงน้ำลดซึ่งสามารถนำช้างเดินผ่านจากแผ่นดินไหญ่ไปยังเกาะลิบงได้ คลองช้างตั้งอยู่ชายฝั่งด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลิบงซึ่งสามารถมองเห็นท่าเรือเจ้าไหมและหาดมดตะนอยได้
  • ด่านภาษี
    แหลมจูโหย เป็นที่ตั้งของสำนักงานป่าไม้หรือเขตห้ามล่าในปัจจุบัน ในอดีตนั้นเคยเป็นด่านเก็บภาษีและเป็นที่พักเรือหลบลมพายุของนักเดินทาง และเป็นที่พักรอให้กระแสน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นก่อนออกเดินทาง

    ราว พ.ศ.2445 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เคยมีบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติติวงศ์ ซึ่งเคยไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.121 มีบันทึกไว้ว่า
  • เกาะลิบงนั้น แขกเรียก ปูลูตะลิบอง แปลว่า เกาะไม้เหลาชะโอน เดิมว่า เป็นรายาเมืองแขก ว่ารอยคู และรากอิฐยังมีปรากฏ แลว่าเขาขุดได้ถ้วยชามมากในเมืองเก่านั้น
บ่าย 5.50 ถึงหน้าโรงภาษี ชายเกาะลิบงด้านใน ทอดสมอแล้วขึ้นไปดูบนโรงภาษีหาที่นอนเวลา 2 ทุ่ม ลงไปกินข้าวในเรือรบ กินแล้วกลับมานอนบนโรงภาษี

หลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกาะลิบง ยังปรากฏอยู่ในบริเวณ หมู่ที่ 1 ของตำบลเกาะลิบง เป็นซากกำแพงเมืองเก่าซึ่งมีลักษณะเป็นทอไม้เคี่ยม บริเวณปากคลองบ้านพร้าว สุสานพระยาลิบงและควนสระที่บ้านโคกสะท้อน
 ตำนานและเรื่องเล่าเกาะลิบงในอดีตยังมีอีกมากมาย กำลังทยอยเขียนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.