เรือหางยาว,Long Tail Boat

เรือหางยาว การต่อเรือ การเดินทางด้วยเรือหางยาว

เรือหางยาว
เรือหางยาวระหว่างการสร้าง,เรือหางยาวที่ภูเก็ต

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนใต้ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับท้องทะเล ซึ่งทะเลเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งหารายได้ที่จำเป็นต่อครอบครัว จังหวัดที่มีพื้นที่ติดฝั่งทะเลใต้ ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้แก่ ชุมพร สุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา กระบี่ พังงา ภูเก็ต ปัตตานี และระนอง เรือจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการออกไปจับสัตว์น้ำทั้งบริเวณชายฝั่งและในทะเลที่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร การต่อเรือไม้ไว้ใช้งานนอกจากจะเพื่อประกอบอาชีพแล้วยังเป็นพาหนะที่สำคัญในการเดินทางสัญจรไปตามที่ต่างๆนับตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน

เรือขุดที่ทำจากไม้ซุงสมัยโบราณ

เรือขุดเป็นเรือยุคโบราณที่สุดที่มีใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ส่วนประเทศไทยนั้นการขุดเรือและการต่อเรือมีจารึกไว้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย (1822-1843) ต่อมาก็เป็นเรือแจว เรือสำเภาและมีพัฒนาการเรื่อยมาจนเป็นเรืออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างปัจจุบัน

เที่ยวเลตรังด้วยเรือหางยาว
เรือหางยาวในอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
เรือหางยาวนิยมใช้กันมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เช่น ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต  เนื่องจากเป็นเรือที่มีขนาดเล็กใช้เครื่องยนต์ตั้งแต่ 13.5 แรงม้าขึ้นไป มักใช้เป็นเรือหาปลาของชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ในปัจจุบันเรือหางยาวถูกพัฒนาให้ใหญ่ขึ้น ใช้เครื่องยนต์ใหญ่ขึ้น รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เพื่อเดินทางระหว่างเกาะต่างๆ เช่น เกาะลิบง เกาะมุก เกาะสุกร เกาะเภตรา เกาะเชือก เกาะกระดาน  ส่วนในจังหวัดกระบี่นิยมใช้กันเดินทางท่องเที่ยวไปยังเกาะพีพี เกาะสีบอหยา เป็นต้น

เรือหางยาว เรียกตามลักษณะของการติดตั้งใบพัดและเครื่องยนต์ที่มีแกนเหล็กหมุนใบจักรจากตัวขับที่ยาวออกไปจากท้ายเรือ จึงเรียกกันว่าเรือหางยาว นอกจากนี้ยังมีแบบหัวโทงและหัวแขก ตามรูปลักษณ์ของเรือด้ว

เรือประมงขนาดเล็ก
เรือหางยาวของชาวประมงพื้นบ้าน บ้านสิเหร่ จังหวัดตรัง

การต่อเรือหางยาวด้วยไม้เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนาน จากเรือแจวพัฒนามาเป็นเรือเครื่องยนต์ สมัยก่อนมีช่างต่อเรืออยู่แทบทุกหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำและทะเล แต่ในปัจจุบันช่างต่อเรือหางยาวมีน้อยลง บางหมู่บ้านมีแค่หนึ่งหรือสองคนเท่านั้นที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการต่อเรือไม้ ประกอบกับปัจจุบันไม้ที่จะนำมาต่อเรือก็มีราคาแพงขึ้นเพราะหาไม้ได้ยากขึ้น ช่างบางคนอาจหยุดทำอาชีพต่อเรือไปเลยก็มี

การซ่อมแซมเรือหางยาว
การต่อเรือหางยาว

การต่อเรือ

เรือรุ่นก่อนๆจะใช้ไม้สัก ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งมีน้ำหนักปานกลาง และมีความทนทานสูง มาต่อเรือทั้งลำ แต่ในปัจจุบันราคาไม้สักแพงมาก จึงนิยมใช้ไม้ชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงมาใช้ต่อเรือและทำชิ้นส่วนประกอบต่างๆของลำเรือ


การเลือกไม้มาต่อเรือ

ไม้ตะเคียน เป็นไม้เนื้อแข็งแต่มีน้ำหนักมากกว่าไม้สัก ไม้ตะเคียนมีความทนทานสูงเช่นกัน เพรียงไม่ใคร่กินเนื้อไม้ ไม้มีความยืดหยุ่น แต่ต้องมีกรรมวิธีในการรักษาเนื้อไม้เพื่อให้ทนแดด ทนน้ำ ทุกครั้งที่จะนำมาต่อเป็นชิ้นส่วนเรือ

ไม้เคี่ยม เป็นไม้ที่นิยมมาใช้ต่อเรือกันมาก มักใช้ทำแผ่นไม้ท้องเรือที่ต้องแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา ด้วยคุณสมบัติความแข็งแรงทนทาน และมีความยืดหยุ่นกว่าไม้สัก มีสีน้ำตาลปนเทา เนื้อไม้เคี่ยมเมื่อต้องตากแดดตากลมจะมีสีเช้มขึ้น หากไม่มีการรักษาเนื้อไม้ด้วยการอบ อาบน้ำยา ไม้จะมีความคงทนอยู่ประมาณ 10 ปี

ไม้ประดู่ เป็นไม้ที่มีเนื้อแข็ง น้ำหนักมากและมีความยืดหยุ่นกว่าไม้ชนิดอื่นๆ มักเป็นไม้ที่นิยมมาใช้ในงานก่อสร้างบ้านเรือน ทำพื้น คาน และกรอบประตู ด้วยคุณภาพของเนื้อไม้ที่แข็งแรงเป็นมันวาว จึงเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่นำมาต่อเรือ

ไม้แสมสาน และไม้เก็ดแดง เป็นไม้เนื้อแข็งมากและมีน้ำหนักมากที่สุด มักใช้ทำหมุดตอกเรือ ช่างชาวเกาะลิบงลงความเห็นว่ามันเป็นไม้ที่ดีที่สุดในการนำมาสร้างส่วนประกอบเรือ


อุปกรณ์ในการต่อเรือ

กบไสไม้ ค้อน สว่าน ตะปู เลื่อย รางทัด ตลับเมตร ขวาน น็อต หมันและยาชัน ไม้ตัวกงเรือและแผ่นไม้กระดานเรือ สีทาเรือชนิดต่างๆ(ใช้กันตัวเพรียง)

วิธีการต่อเรือเบื้องต้น

นายช่างจะสร้างโครงร่างของเรือด้วยการต่อท่อนไม้ส่วนประกอบต่างๆที่เตรียมไว้เป็นรูปกระดูกงูก่อนเสมอ การจัดวางตัวกงตั้ง ตามปกติจะใช้ไม้ท่อนยาวและมีน้ำหนักตรงกลางใต้กงให้เป็นเหมือนกระดูกงู แล้วเอาไม้กงเรือติดทวนหัวและทวนท้ายเข้ากับกระดูกงูเพื่อให้เป็นรูปตัวโครงเรือขึ้นมา ต่อมาทำการปิดแผ่นไม้รอบตัวเรือตรงขอบนอกของกงที่ตั้งวางไว้ ความยาวเรือที่นิยมทำเป็นเรือประมงชายฝั่งขนาดเล็กจะอยู่ที่ความยาวจากหัวเรือถึงท้านเรือประมาณ 5-6 เมตร

เรือที่ช่างต่อขึ้นมาโดยส่วนมากจะไม่มีพิมเขียวหรือไม่ค่อยวาดรูปแบบในการออกแบบไว้ แต่จะใช้แบบของตัวเรือครึ่งซีกขนาดเล็ก แล้วตัดออกเป็นส่วนๆ ตามแนวขวาง วัดส่วนต่างๆแล้วขยายให้เท่ากับขนาดของเรือที่ต้องการ การต่อเรือส่วนใหญ่จะใช้ประสบการณ์และความชำนาญที่ได้ฝึกฝนมา ช่างบางคนใช้แค่การคาดคะเนหรือมองด้วยสายตาก็สามารถออกแบบลำเรือได้ โดยไม่ต้องวาดแบบ

การต่อเรือหางยาวเป็นอาชีพที่มีรายได้ประมาณ 12,000-15,000 บาทต่อลำ(สัมภาษณ์ปี 2547) ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือที่ลูกค้าต้องการ ขนาดเรือจะเรียกกันเป็นตัวกง เช่น 14 ตัวกง 17 ตัวกงและ 21 ตัวกง เป็นต้น ไม่นิยมเรียกเป็นเมตร เพราะผู้ซื้อและผู้ขายเข้าใจตรงกันว่าการเรียกเรือเป็นตัวกงนั้นจะบอกขนาดของเรือว่ามีความกว้างยาวประมาณเท่าไร และขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานด้วย เช่น เรือจมปู(ตกปู)ในคลอง เรือวางไซปลาในทะเลและเรือโดยสาร

*เรือหางยาวเป็นเครื่องมือหากินเลี้ยงปากท้องของประชาชนคนรากหญ้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อออกหาสัตว์น้ำในระยะทางที่ไม่ไกลฝั่งมากนัก มีขีดความสามารถในการออกทะเลเพื่อล่าสัตว์น้ำที่น้อยกว่าเรือประมงพาณิชย์อย่างมากมาย ทั้งจำนวนสัตว์น้ำที่หาได้และวิธีการจับสัตว์น้ำที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้ดีกว่าเรือพาณิชย์ของนายทุน ปัจจุบันแม้ว่าจะมีช่างต่อเรือจะน้อยลงแต่เรือหางยาวยังถูกสร้างมาเพื่อบริการนักท่องเที่ยวมากขึ้น

เที่ยวตรัง,กันตัง
เรือหางยาวไม้และเรือไฟเบอร์ขนาดเล็กใช้ในแม่น้ำตรัง ภาพจากท่าเรือชุมชนวัดควนทองศรี จังหวัดตรัง

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.